ไดโนเสาร์อดีต-นกปัจจุบัน

ในยุค Permian คือเมื่อ 230 ล้านปีก่อนนี้ได้มีสัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่งถือกำเนิดเกิดมาบนโลกและได้วิวัฒนาการตนจนสามารถยึดครองโลกได้เป็นเวลานานถึง 155 ล้านปี แล้วก็สูญพันธุ์ไป สัตว์ชนิดนี้คือไดโนเสาร์ (dinosaur)

เหตุใดไดโนเสาร์ซึ่งเป็นสัตว์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในการเป็นเจ้าโลกจึงต้องสูญพันธุ์ไปในขณะที่สัตว์อื่นๆ เช่น จระเข้ และเต่า กลับไม่เป็นอะไรเลย นักชีววิทยาสัตว์ดึกดำบรรพ์สงสัยว่าการที่ไดไนเสาร์สูญพันธุ์เพราะมันไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมและอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปใช่หรือไม่ หรือเพราะโลกถูกพายุอุกกาบาตถล่ม หรือเพราะภูเขาไฟบนโลกได้ระเบิดติดต่อกันนานอย่างขนานใหญ่ คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่นักวิทยาศาสตร์ทุกคนสนใจจะหาคำตอบ

ประวัติศาสตร์ได้จารึกว่าในปี พ.ศ. 2229 ที่เหมืองถ่านหินแห่งหนึ่งของเมือง Maastricht ในประเทศเนเธอร์แลนด์ได้มีการขุดพบกะโหลกศีรษะของสัตว์ขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีกระดูกกรามยาวถึง 1 เมตร ผู้คนในสมัยนั้นไม่สามารถปักใจได้ว่ามันเป็นกะโหลกศีรษะของจระเข้หรือปลาวาฬกันแน่ และในระหว่างปี พ.ศ. 2354-2373 Mary Anning ได้ขุดพบกระดูกที่ยาวถึง 4 เมตร ที่ Lyme Regis ซึ่งอยู่ทางใต้ของอังกฤษ การวัดอายุของกระดูกในเวลาต่อมาแสดงให้เห็นว่ากระดูกมีอายุประมาณ 200 ล้านปี แต่คนยุคนั้นส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นกระดูกของมังกร

และในปี พ.ศ. 2385 นั้นเอง R. Owen นักสัตววิทยาชาวอังกฤษได้เรียกสัตว์ที่เป็นเจ้าของโครงกระดูกที่ Anning พบว่า dinosauria ซึ่งแปลตามตัวว่า กิ้งก่าที่น่าสะพรึงกลัว Owen คิดว่าไดโนเสาร์ของเขามีขนาดใหญ่กว่าช้างราว 6 เท่า หลังจากนั้นก็ได้มีการขุดพบกระดูกไดโนเสาร์ ณ ที่ต่างๆ ทั่วโลกมากมาย การศึกษารูปร่างของกระดูกมันทำให้เราเห็นกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของมัน ส่วนริ้วรอยบนกระดูกแสดงให้เห็นขนาดของเส้นประสาท ฟันของมันบอกนิสัยและวิธีการหาอาหาร รอยเท้าบอกวิธีเดิน และไข่บอกวิธีที่มันใช้ในการสืบพันธุ์ ข้อมูลทั้งหลายเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าไดโนเสาร์เป็นสัตว์สังคมที่ชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่มและออกหากินเป็นฝูง มันมีขนาดตัวต่างๆ กัน ตั้งแต่เล็กเท่าไก่จนกระทั่งใหญ่เท่ายักษ์ ไดโนเสาร์ใช้ขาทั้ง 4 แต่บางชนิดก็ใช้ขาหลัง 2 ขาในการเดิน เช่น ไดโนเสาร์พันธุ์ Sauropod ที่กินพืชเป็นอาหารหลัก มีลำตัวยาว 20 เมตร และหนักถึง 20 ตัน หรือ Brachiosaurus ที่มีลำตัวยาว 22 เมตรและสูงถึง 12 เมตรนั้นมีน้ำหนักตัวประมาณ 80 ตัน เป็นต้น ไดโนเสาร์เหล่านี้เป็นสัตว์มังสวิรัติทั้งสิ้น

แต่แล้วในปี พ.ศ. 2451 ได้มีการพบไดโนเสาร์กินเนื้อเป็นครั้งแรกในรัฐ Montana ของสหรัฐอเมริกา ไดโนเสาร์ 2 เท้านี้ชื่อ Tyranosaurus rex. มีลำตัวยาว 14 เมตร มีความสูงราว 6 เมตร และหนักราว 7 ตัน ฟันของ T.rex เป็นซี่คมยาวราว 20 เซนติเมตร ขาหลังสองขาของมันแข็งแรงมากทำให้มันสามารถวิ่งได้เร็ว 12 กิโลเมตร/ชั่วโมง

วิธีการสืบพันธุ์ของไดโนเสาร์ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะไดโนเสาร์ใช้วิธีออกไข่เช่นเดียวกับสัตว์เลื้อยคลานอื่นๆ หากเราใช้วิธีบัญญัติไตรยางศ์ง่ายๆ เปรียบเทียบไข่กับไข่ไดโนเสาร์ เราก็คงคิดว่า ไดโนเสาร์ที่มีลำตัวยาว 30 เมตร จะต้องออกไข่ใหญ่เท่ารถยนต์แต่ความจริงก็มีอยู่ว่า ไข่ไดโนเสาร์ที่หนักที่สุดมีน้ำหนักน้อยกว่า 6 กิโลกรัม และมีลักษณะรียาว นักชีววิทยาสัตว์ดึกดำบรรพ์พบว่า ลูกไดโนเสาร์เวลาออกจากไข่ใหม่ๆ จะมีลำตัวยาวประมาณ 1 เมตรเท่านั้นเอง การมีขนาดตัวเล็กเช่นนี้แสดงให้เห็นว่ามันต้องต่อสู้ และปกป้องตัวเองให้รอดพ้นจากภัยภายนอกเหมือนลูกเต่า และในปี พ.ศ. 2465 นั้นเองก็ได้มีการพบไข่ไดโนเสาร์หลายใบวางเรียงในรังในทะเลทราย Gobi ของมองโกเลีย การพบนี้ยืนยันว่าไดโนเสาร์ใช้วิธีออกไข่และเลี้ยงดูลูกอ่อนเหมือนจระเข้

มนุษย์ไม่มีโอกาสได้เห็นไดโนเสาร์เป็นๆ เพราะไดโนเสาร์ได้สูญพันธุ์ไปตั้ง 65 ล้านปีมาแล้ว (มนุษย์คนแรกถือกำเนิดบนโลกเมื่อประมาณ 4 ล้านปีก่อนนี้เอง) นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามอธิบายสาเหตุการสูญพันธุ์นี้ด้วยทฤษฎีต่างๆ มากมาย เช่นว่าได้เกิดโรคระบาดในบรรดาไดโนเสาร์ บางคนคิดว่าเป็นเพราะอาหารที่ไดโนเสาร์กินเข้าไปเป็นพิษ บ้างก็ว่าเพราะเปลือกไข่ของมันหนาเสียจนลูกของมันเจาะออกมาไม่ได้ บางคนคิดว่าคงเป็นเพราะมันออกลูกพันธุ์เดียวโดยตลอด ทั้งนี้เพราะเพศของลูกไดโนเสาร์ขึ้นกับอุณหภูมิเหมือนกรณีจระเข้

แต่เมื่อ 15 ปีก่อนนี้เอง Walter และ Luis alvarez บุตรและบิดาแห่งมหาวิทยาลัย California ที่ Berkeley ในสหรัฐอเมริกาได้เสนอความคิดเห็นว่า ไดโนเสาร์สูญพันธุ์เพราะเมื่อ 65 ล้านปีนั้นได้มีอุกกาบาตขนาดใหญ่ลูกหนึ่งพุ่งตกมาชนโลก ทำให้เกิดหลุมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 100 กิโลเมตร ฝุ่นที่หนักเป็นล้านๆ ตันเมื่อพุ่งขึ้นสู่อากาศได้บดบังแสงอาทิตย์ทำให้อุณหภูมิของโลกลดต่ำ และสภาพแวดล้อมเสียสมดุลพลังกระแทกทำให้ภูเขาไฟระเบิด ระดับน้ำทะเลลด และทิศทางการไหลของกระแสน้ำในมหาสมุทรเปลี่ยน มีผลทำให้พืชต่างๆ ตายและเมื่ออาหารหมดไดโนเสาร์ก็ได้ล้มตายตามไปด้วย ข้อสันนิษฐานที่ Alvarez เสนอแนะนี้ได้รับการยืนยันว่าเป็นจริงเมื่อมีการพบตำแหน่งที่อุกกาบาตลูกนั้นตกคือที่ Chicxulub ในแหลม Yucatan ของประเทศ Mexico

เราหลายคนคงนึกเสียดายที่ไดโนเสาร์ได้สูญพันธุ์ไปก่อนที่เราจะมีโอกาสเห็นมัน แต่ในความเป็นจริงนั้นไดโนเสาร์มิได้สาบสูญไปไหน นักวิชาการหลายคนมีความเชื่ออย่างมั่นเหมาะว่า นกทุกวันนี้คือไดโนเสาร์ในอดีตนั่นเอง J.H. Ostrom เป็นนักชีววิทยาคนแรกที่คิดว่าทายาทของไดโนเสาร์คือนก แต่ในปี พ.ศ. 2516 ที่เขาเสนอความคิดนั้นไม่มีใครเห็นด้วย Ostrom ได้ความคิดนี้มาจากการศึกษาฟอสซิล (fossil) ซากของนกดึกดำบรรพ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดชื่อ Archaeopteryx ซึ่งถูกขุดพบที่เหมือง Solnhofen ในแคว้น Bavaria ของเยอรมนีเมื่อปี พ.ศ. 2404 โดยเขาได้พบว่ากระดูกของ Archaeopteryx ซึ่งเป็นสัตว์ที่เคยมีชีวิตอยู่เมื่อ 140-150 ล้านปีก่อนโน้นมีความละม้ายคล้ายคลึงกับกระดูกของไดโนเสาร์มาก ทำให้เขาคิดว่า Archaeopteryx ซึ่งมี 2 เท้าและมีปีกที่มีขนนี้มีวิวัฒนาการมาจาก dinosaur พันธุ์ theropod โดยปีกมีวิวัฒนาการจากขาหน้าของสัตว์เลื้อยคลาน แต่ถ้าไดโนเสาร์เป็นต้นตระกูลของนกจริงนั่นหมายความว่าไดโนเสาร์เป็นสัตว์เลือดอุ่นใช่หรือไม่ สำหรับเรื่องนี้นักชีววิทยายังไม่มีคำตอบให้และเป็นเรื่องที่ยังมีการถกเถียงกันอยู่ เพราะในวารสาร Science ฉบับวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 ที่ผ่านมา J. Ruben แห่ง Oregon State University ในสหรัฐอเมริกาได้ศึกษาปอดของจระเข้และพบว่ากระดูกโครงสร้างของไดโนเสาร์ทำให้มันมีปอดที่มีลักษณะคล้ายของจระเข้ ทำให้มันเป็นสัตว์เลือดเย็น แต่นักชีววิทยาบางกลุ่มยังไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปนี้ เพราะ Ruben อาศัยภาพถ่ายของฟอสซิลแต่เพียงอย่างเดียว และตามปกติ ภาพสองมิติไม่สามารถเก็บรายละเอียดของวัตถุ 3 มิติได้ดี นักชีววิทยาส่วนใหญ่จึงยังมีความเชื่อว่าบรรพสัตว์ของนกคือไดโนเสาร์

ส่วนนักปักษีวิทยานั้นเชื่อว่า นกได้เริ่มแยกเส้นทางการวิวัฒนาการจากสัตว์เลื้อยคลานเมื่อ 250 ล้านปีก่อนในยุค Triassic โดยหนังของสัตว์เลื้อยคลานได้วิวัฒนาการไปเป็นขน และขาหน้าได้เปลี่ยนไปเป็นปีก กระบวนการเปลี่ยนแปลงไดโนเสาร์เป็นนกได้สำเร็จสมบูรณ์เมื่อ 88 ล้านปีมานี้เอง โดยนกตัวแรกของโลกจะเริ่มบินได้อย่างช้าๆ ก่อน

เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมานี้เอง P. Currie แห่ง Royal Tyrrel Museum of Paleontology ในแคนาดาได้พบฟอสซิลของ “นก” ที่มีลักษณะคล้ายฟอสซิลของ Archaeopteryx มาก ที่มณฑล Liaoning ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ฟอสซิลนี้แสดงให้เห็นว่าไดโนเสาร์พันธุ์ Sinosauropteryx Prima ที่มีขนาดเท่าไก่งวง และมีขาที่แข็งแรง มีขนหาง มีปีกแต่บินไม่ได้ ฟันของ Sinosauropteryx Prima คมกว่าและหนากว่าฟันของนกดึกดำบรรพ์อื่นๆ ที่เคยพบทั้งหมด ซากแสดงให้เห็นว่าขาหน้าของไดโนเสาร์พันธุ์นี้มีแนวโน้มจะวิวัฒนาการเป็นปีกนกในเวลาต่อมาและในการเคลื่อนที่นั้น Sinosauropteryx จะใช้ขาหลังเหมือนนกกระจอกเทศ จะอย่างไรก็ตามฟอสซิลนี้ทำให้เรารู้ว่า สัตว์เลื้อยคลานบนดินมีวิธีทะยานขึ้นเหนือดินในเวลาต่อมาได้อย่างไร

และในปี พ.ศ. 2541 J. Qiang แห่ง National Geological Museum ที่ปักกิ่ง และคณะก็ได้พบไดโนเสาร์ที่มีขนปีก Sinosauropteryx อายุ 75 ล้านปีที่เมือง Sihetun ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปักกิ่ง และอยู่ห่างออกไปประมาณ 400 กิโลเมตร ดินแดนนี้กำลังเป็นสวรรค์บนดินให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษาสัตว์ดึกดำบรรพ์ เพราะนอกจากจะพบ Sinosauropteryx แล้ว ยังมีการขุดพบนกที่มีขน Protoarchaeopteryx นก Confuciusornis ซึ่งเป็นนกตัวแรกๆ ของโลกอีกด้วย การมีนักวิทยาศาสตร์มาเยี่ยมเยือนเมือง Sihetun มาก ทำให้ชาวเมืองมีรายได้จากการขายที่ระลึกมากขึ้น ทางการจีนจึงต้องจ้างคนดูแลสุสานดึกดำบรรพ์แห่งนี้มิให้ชาวเมืองลอบขุดหาฟอสซิลอย่างไม่รู้เท่าถึงการณ์ใดๆ

คนหลายคนคงคิดว่าการค้นหาต้นตระกูลของนกเช่นนี้ไร้ประโยชน์และไม่ทำให้ชีวิตและสวัสดิการของคนบนโลกดีขึ้น แต่เราก็คงไม่ลืมว่านกนั้นบินอยู่บนฟ้ามานานกว่า 100 ล้านปีแล้ว ส่วนเราก็ได้เดินอยู่บนดินมาราว 4 ล้านปีเช่นกัน ฟ้าคู่ดินเช่นไร นกก็คู่คนเช่นนั้น การรู้เราและรู้เราด้วย ผมว่าดีครับ

ใส่ความเห็น